การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ช่วยมอบความรู้ความเข้าใจด้านสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่ประชาชน เริ่มตั้งแต่การปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กนักเรียนมีความเห็นอกเห็นใจสัตว์ ไปจนถึงการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการดูแลสัตว์ในชีวิตประจำวันและวิธีตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้แก่สัตว์จรจัดในชุมชน โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์จรจัดให้ดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เรายังเปิดรั้วต้อนรับนักศึกษาสัตวแพทย์จากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเข้าศึกษางานในการช่วยเหลือสัตว์เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานสัตวแพทย์ในภูมิภาค
ฝ่ายการศึกษา
มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย เชื่อมั่นว่าทัศนคติที่ดีและความเมตตาต่อสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก หากมีประชากรจำนวนมากมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุนัขและแมวจะส่งผลให้การทารุณกรรมสัตว์และการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงลดน้อยลง
โครงการการศึกษาของซอยด๊อก ช่วยปลูกฝังให้เด็กมีความเห็นอกเห็นใจและความเมตตาต่อสัตว์ โดยสร้างความตระหนักรู้เรื่องความทุกข์ทรมานของสัตว์ พร้อมด้วยการสร้างพลังบวกให้เด็ก ๆ เห็นความสามารถในการปกป้องสัตว์ของตนเอง และบ่มเพาะให้เด็กซึ่งเป็นเยาวชนของสังคมมีความรับผิดชอบต่อสัตว์ โดยมีรูปแบบการสอนที่มุ่งเน้นด้านการให้ความรู้ด้านสวัสดิภาพสัตว์ การป้องกันเมื่อถูกสุนัขกัด และการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการการศึกษาของเราจะเป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนสำหรับการปฏิบัติของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์
มูลนิธิฯ ได้จัดตั้งฝ่ายการศึกษาขึ้นในปีพ.ศ. 2560 เพื่อให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ในวัยเรียน โดยเริ่มตั้งแต่ชั้นปฐมวัย และได้เปิดใช้งานศูนย์การเรียนรู้เพื่อสวัสดิภาพสัตว์ซึ่งเป็นห้องเรียนเพื่อสวัสดิภาพสัตว์แห่งแรกในประเทศไทย ที่ศูนย์พักพิง บ้านไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต ในปีพ.ศ.2563
ในปีพ.ศ. 2567 มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยก้าวไปอีกขั้นจากการจับมือร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ตในการทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) นับว่าเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจการส่งเสริมการศึกษาด้านสวัสดิภาพสัตว์ เราได้ทำการจัดเรียนการสอนเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ให้กับโรงเรียน 10 แห่งทั่วภูเก็ต หลักสูตรนี้ครอบคลุมถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ 5 ประการ หลักการพื้นฐานในการดูแลสัตว์ การเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ และข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า
เนื้อหาสำคัญที่เป็นแกนหลักของโครงการการศึกษา คือการให้ความรู้เรื่องสวัสดิภาพสัตว์ทั้ง 5 ประการ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสวัสดิภาพสัตว์ (Universal Declaration on Animal Welfare หรือ UDAW) ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันในระดับนานาชาติว่าสัตว์มีความรู้สึก พวกเขารับรู้ความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานได้ ความต้องการของสัตว์ต้องได้รับการเคารพ ความโหดร้ายต่อสัตว์ต้องสิ้นสุดลงอย่างถาวร ซึ่งหมายรวมถึงสัตว์ทุกชนิดและสัตว์ที่เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว
- อิสระจากความหิวกระหาย (Freedom from hunger and thirst)
- อิสระจากความไม่สบายกาย (Freedom from discomfort)
- อิสระจากความเจ็บปวดและโรคภัย (Freedom from pain injury and disease)
- อิสระจากความกลัวและไม่พึงพอใจ (Freedom from fear and distress)
- อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ (Freedom to express normal behavior)
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสวัสดิภาพสัตว์ (UDAW) เริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2543 เป็นข้อตกลงที่เสนอขึ้นเพื่อรับรองว่าสัตว์มีความรู้สึก เพื่อป้องกันการทารุณกรรมและลดความทุกข์ทรมาน และเพื่อส่งเสริมมาตรฐานด้านสวัสดิภาพของสัตว์ทุกชนิดโดยรวมไปถึงสัตว์เลี้ยง
ฝ่ายส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
เป้าหมายของฝ่ายส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางสังคมคือการช่วยสร้างสังคมที่เคารพและปกป้องสัตว์ในเอเชีย การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญในการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ระยะยาว เพราะลำพังเพียงกฎหมายอาจไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคม การสร้างความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันกับสัตว์จึงเป้าหมายที่สำคัญของเรา
ฝ่ายส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทารุณกรรมและการทอดทิ้ง รวมถึงการเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ
เราก่อตั้งฝ่ายส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปีพ.ศ. 2546 บนเส้นทางแห่งการเป็นผู้นำปรับปรุงชีวิตสัตว์จรจัดในประเทศไทย เราได้การทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในการยุติการค้าเนื้อสุนัข ทำให้นำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองสัตว์ฉบับแรกในไทย ‘พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๗’ ซึ่งมูลนิธิฯ มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายฉบับนี้และทำให้การกินเนื้อสุนัขและแมวเป็นสิ่งผิดกฎหมายในที่สุด
ความสำเร็จนี้ไม่เพียงแค่ช่วยแก้ไขปัญหาความโหดร้ายของการค้าเนื้อสุนัขเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งนี้จอห์น ดัลลีย์ ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิฯ ได้กลายเป็นหนึ่งในชาวต่างชาติเพียงไม่กี่คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมาย สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมูลนิธิฯ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ให้แก่ชีวิตสุนัขและแมว
หลังการประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองสัตว์ เรายังคงเดินหน้าช่วยเหลือสัตว์อย่างเต็มกำลังด้วยการจับมือกับหน่วยงานท้องถิ่น องค์กรเอกชน ประชาชน และหน่วยงานระดับประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญผ่านการสืบสวน สอบสวนคดีอย่างละเอียดเมื่อเกิดเคสเกี่ยวกับสัตว์ถูกลิดรอนสวัสดิภาพ
นอกจากนี้ฝ่ายส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางสังคมยังช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติต่อสัตว์และการเลี้ยงดูสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ โดยการจัดกิจกรรมฝึกอบรมและสัมมนาให้แก่จิตอาสาผู้มีจิตใจงดงามหลายร้อยคนที่คอยดูแล คอยให้อาหารสัตว์ในชุมชนทั้งในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา โดยกิจกรรมมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้แก่จิตอาสาเกี่ยวกับประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ต่าง ๆ เช่น การทำร้ายสัตว์ การทารุณกรรม และการทอดทิ้งสัตว์ นอกจากนี้เราช่วยให้ประชาชนทั่วไปสามารถวิเคราะห์สถานการณ์เมื่อพบเห็นสัตว์ถูกทารุณกรรม จนสามารถรายงานเหตุทารุณกรรม และดำเนินการกับผู้กระทำผิด
การดำเนินงานทั้งหมดนี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมที่เห็นอกเห็นใจสัตว์ และการปกป้องสัตว์ด้วยการใช้กฎหมายจนประชาชนเกิดความภาคภูมิใจในตนเองที่พวกเขาสามารถปกป้องสัตว์ในชุมชนได้
ฝ่ายบริการด้านสวัสดิภาพสัตว์
โครงการหน่วยบริการด้านสวัสดิภาพสัตว์ชุมชนของซอยด๊อกแบ่งการทำงานเป็น 3 ทีม ซึ่งเดินทางรอบเกาะภูเก็ตไปยังย่านชุมชนและแหล่งพักอาศัยที่มีสุนัขและแมวจรจัดอาศัยอยู่ เช่น ชายหาดและวัด เพื่อตรวจสุขภาพเบื้องต้น และให้ความรู้แก่ผู้ดูแลสัตว์ในชุมชนในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการสังเกตสุนัขและแมวที่มีอาการป่วยหรือบาดเจ็บ สัตว์จำนวนกว่า 14,000 ตัวได้รับการดูแลรักษาด้วยหน่วยบริการในปี พ.ศ. 2566
ด้วยความร่วมมือกับคนรักสัตว์และวัดในแต่ละชุมชน โครงการนี้จึงได้ให้เผยแพร่ความรู้เรื่องการดูแลสุนัขและแมวเป็นวงกว้าง ซึ่งทำให้ผู้ที่ดูแลสัตว์ในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสัตว์ นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังสนับสนุนอาหารสัตว์ให้แก่กลุ่มเครือข่ายนี้ ในการกระจายอาหารต่อให้แก่สุนัขและแมวรอบเกาะ
วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือเพื่อให้สุนัขและแมวในชุมชนได้รับการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อป้องกันโรคติดต่อและอาการเจ็บป่วย รวมถึงผู้ดูแลสัตว์สามารถปฐมพยาบาลและรักษาเบื้องต้นได้ก่อนนำส่งสัตวแพทย์ ซึ่งทำให้สัตว์เจ็บปวดและทรมานน้อยลง และเป็นการลดโอกาสในการรับเข้ามารักษาที่ศูนย์พักพิง เพื่อสงวนพื้นที่ให้เฉพาะสัตว์จรจัดที่บาดเจ็บฉุกเฉิน
สัตวแพทย์ฝึกงาน
นอกจากโครงการการศึกษาที่ให้ความรู้แก่เยาวชนแล้ว เรายังรับนักศึกษาสัตวแพทย์จากประเทศต่าง ๆ เข้ามาทำงานร่วมกับสัตวแพทย์ประจำที่ศูนย์พักพิง ซึ่งจะได้เรียนรู้การช่วยเหลือและหัตถการทางการแพทย์ต่าง ๆ ทั้งการผ่าตัด เคสการช่วยเหลือ ซึ่งสัตว์จรจัดที่เข้ามารับการรักษาที่มูลนิธิฯ มีอาการบาดเจ็บและโรคที่หลากหลายจากการใช้ชีวิตข้างถนน จึงเป็นการฝึกประสบการณ์การทำงานที่คุ้มค่า ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการสัตวแพทย์ฝึกงาน
เรามุ่งมั่นให้การสนับสนุนนักศึกษาสัตวแพทย์ไทย โดยเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้การรักษาสัตว์บาดเจ็บหรือเจ็บป่วย สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาเห็นความสำคัญของสวัสดิภาพสัตว์ และชี้ให้พวกเขาเห็นโอกาสทางการทำงานด้านการรักษาสัตว์ในศูนย์พักพิงสัตว์
เป้าหมายของเราคือการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวให้กับการช่วยเหลือสัตว์ในศูนย์พักพิงของเรา รวมถึงยกระดับวิชาชีพสัตวแพทย์และมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ทั่วทั้งทวีปเอเชีย
หนึ่งในก้าวสำคัญของมูลนิธิฯ คือการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เป็นเวลา 5 ปีร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะทางการรักษาสัตว์ จากความร่วมมือนี้ส่งผลให้มีนักศึกษาสัตวแพทย์เข้าฝึกงานและเรียนรู้งานจากมูลนิธิฯ มากขึ้น
นอกจากนี้เราได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรวิชาเลือกเสรีเกี่ยวกับการรักษาสัตว์ในศูนย์พักพิง ช่วยสร้างเส้นทางแห่งอนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาสสำหรับการศึกษาด้านสัตวแพทย์ในประเทศไทย