ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยสัตว์ของมูลนิธิฯ จะนำข้อมูลจากฝ่ายต้อนรับและลงทะเบียนในการวางแผนการเดินทางเพื่อช่วยเหลือสัตว์ที่บาดเจ็บวิกฤต และบันทึกข้อมูลของสุนัขและแมวจรจัดที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ซึ่งฝ่ายต้อนรับและลงทะเบียนนั้นรับเรื่องแจ้งเหตุสัตว์บาดเจ็บเฉลี่ย 1,200 – 1,600 สายต่อเดือน และโดยมากเป็นเคสฉุกเฉินที่ทีมกู้ภัยสัตว์ต้องลงพื้นที่ช่วยเหลือทันที
เมื่อสุนัขและแมวที่บาดเจ็บเดินทางมาถึงโรงพยาบาลสัตว์ของเรา จะได้รับการตรวจโดยสัตวแพทย์และวินิจฉัยอาการเบื้องต้นก่อนจะถูกนำตัวไปรับการรักษาทางการแพทย์ตามอาการ
สัตว์ที่เข้ามารักษามักมีการติดเชื้อลำไส้อักเสบและไข้หัด อาการขี้เรื้อนแห้งและขี้เรื้อนเปียก และเนื้องอกบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ในสุนัข (TVT) ซึ่งอาการเหล่านี้พบได้น้อยมากในประเทศฝั่งตะวันตก แต่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย เคสอื่น ๆ ที่พบบ่อยเช่นแผลติดเชื้อ กระดูกหักเนื่องจากถูกรถชน ปัญหาผิวหนังและเห็บหมัด
เพื่อลดความหนาแน่นของจำนวนสัตว์ที่เข้ามารักษาและจัดสรรพื้นที่ให้เพียงพอ เราจึงมีหน่วยบริการด้านสวัสดิภาพสัตว์ชุมชน (Community Outreach Programme : COP) เพื่อช่วยเหลือและรักษาสัตว์จรจัดเหล่านี้ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือฉุกเฉินด้วยในบางครั้ง อย่างไรก็ตามจะเน้นการทำงานที่เข้าถึงตัวสัตว์ที่อาการไม่รุนแรงนักและไม่จำเป็นต้องนำส่งโรงพยาบาล เพื่อเป็นการแบ่งเบางานของสัตวแพทย์ที่ศูนย์พักพิง